เสี้ยวหนึ่งจาก ผนวกลมปราณกับดวงใจ
ทิวทัศน์ของใจเห็นได้ด้วยตา


ภาพ: Pairoj Brahma



เราได้เรียนเรื่องการเคลื่อนไหวกับจังหวะดนตรี เป็นห้อง ๆ ห้องหนึ่ง เหมือนลมหายใจเฮือกหนึ่ง เราเคลื่อนไหวในวงกลม คนหนึ่ง เคลื่อนไหว ๑​ ห้อง คือ ๑ ห้วงหายใจ ๒ คน....ไปจนครบรอบ และจบที่ห้องดนตรีสุดท้าย เป้าหมาย คือได้กลับมาที่ของตน และได้ ฟัง ได้เห็น "การเคลื่อนไหวของลมปราณ" เป็นพลังกลุ่ม ที่ได้มาจากปัจเจก

เราได้เรียนการเคลื่อนไหวเชิงสันทนาการกลุ่ม ที่สอนให้เราเคลื่อนไหวกับจังหวะด้วยเท้า อย่างเที่ยงชัดเจน  และได้เรียน "ประโยคดนตรี" หนึ่งประโยค หนึ่งทิศทาง ต่างคนต่างไป แต่ไปด้วยกัน

เราได้เรียนเสียงสเกลเมเจอร์ ไมเนอร์ ความรู้สึกของมนุษย์ มีพื้นฐานที่ มืด กับสว่าง กดทับกับเบาหวิว เป็นภาษาอีกภาษาที่ไม่ต้องไปยุ่งเรื่องสุข ๆ ทุกข์ ๆ แต่เป็นอากัปกริยาและการหายใจของ soul นั้นเอง นั่นคือสิ่งที่ซ่อนอยู่หรือปรากฏอยู่ในดนตรีเมเจอร์และไมเนอร์ เราได้พบว่า ดนตรี เป็น บรรยากาศภายใน เป็นทิวทัศน์ของใจ การเคลื่อนไหวของเราจึงเป็นการเคลื่อนไหวของใจ บนพื้นฐานสติที่รับรู้ทิวทัศน์นั้น โดยอยู่ภายใต้กฎของจังหวะลมปราณ

เราได้เรียนเสียงสูง เสียงต่ำ ความรู้สึกสว่าง ไปสู่อุดมคติ และมืด สู่ความอึมครึม ครึ้ม ๆ  เพลง ๆ นั้นที่เราทำด้วยกัน อาจทำให้ใจรู้สึกปลิว ๆ หรือ กด ๆ หรือ กลาง ๆ เราได้จับมัน และเห็นจุดนั้น สว่างกับมืด เห็นทั่วหมด ฉันเลือกเพลงที่เขียนขึ้นในยุคที่มนุษย์เริ่มให้ความสำคัญกับความ "รู้สึก" ของตน   เพลงนี้ ทำให้เคลิ้มไปกับความรู้สึกได้  แต่เวลาเคลื่อนไหวยูริธมี่ เราไม่เคลิ้ม  ตรงกันข้าม เราเห็นความรู้สึก ได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นความรู้สึกนั้น ที่มีอยู่ อย่างรู้ใจรู้ตัว เราไม่หลบมัน เราเป็นหนึ่งเดียว อย่างไม่จมลงไป เพราะการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ทำให้เราต้องอยู่ในสภาวะที่ "ตื่นอยู่"

เพลงอีกเพลงที่เราเล่นเชิงสันทนาการกลุ่มนั้น ในวันสุดท้าย เป้าหมายให้ตื่นกับ "ทิศ" มนุษย์ยืนตัวตรงตั้งฉากกับแผ่นดิน สัมปชัญญะของจิตสถิตย์กับทิศ การหันที่พลิกไปมา ทำให้ต้องตื่นตัวในการปรับตัว "พร้อม" รับมือกับสถานการณ์ใหม่ ๆ รับมือกับสิ่งที่ไม่คาดไว้ ใจเรายืดหยุ่นขึ้น เป็นกุศโลบายในการอบรมจิตใจให้ปราดเปรียวพร้อมเปลี่ยนแปลง เป็นแบบฝึกหัดเด็ก ๆ ๑๐ ขวบขึ้นไป และฉันใช้สำหรับช่วงเปิดเทอมใหม่ ๆ เพื่อให้เด็กปรับตัวเร็ว ความขี้เกียจและจมจ่อมถูกขจัดออกไป

ขอบคุณน้องเพลง (Facebook: Nattakarn S. Brima) นักเปียโนที่ตื่นอยู่เสมอ ฟัง และเห็นลมหายใจของของผู้เรียนจากการเคลื่อนไหว เราเหมือนเป็นนักดนตรีที่เล่นประสานเสียงกันได้อย่างไม่ต้องอาศัยคำพูด ไม่บ่อยนักที่จะได้พบนักเปียโนสำหรับวิชายูริธมี่ เพราะเขาต้องชอบเล่นเพลงซ้ำ ๆ ท่อนเดิม ๆ กลับไปกลับมา เล่นอะไรง่ายๆ พื้น ๆ ถ้าไม่ใช่คนที่ค้นหา และเปิดใจ คงเบื่องานนี้แล้ว แต่น้องเพลงละเอียดกับการฟังและการเห็น แถมชอบฟังพี่ ๆ คุยกัน

ขอบคุณผู้เรียนทุกคน
ขอขอบคุณ จ๊ะ (Facebook: Jeeranun Laipoonsawad)
ขอขอบคุณ พี่หลี "บ้านไม้หอม" ของผู้อารีย์
บ้านหลังนี้ ล้อมรอบด้วยต้นมะพร้าว โดยเฉพาะกลางคืนจะได้ยินเสียง ตุ๊บ ๆ ๆ







Comments

Popular posts from this blog

เนื้อหาวิชาเรียนเสาร์นี้ จากภควัตคีตา สู่วารีดุริยางค์ และ ไตรลักษณะของมนุษย์ในดนตรี

สรุปบทเรียนยูริธมี่