สรุปบทเรียนยูริธมี่

สรุปบทเรียนวิชายูริธมี่
คอร์สสำหรับบุคคลที่เคยทำงานด้านภาวนาและผู้สนใจยูริธมี่
มหาวิทยาลัยมหิดล
๓ - ๔ กรกฎาคม พ.ศ.​๒๕๖๐
๙.๐๐ - ๑๗.๐๐ น.

บทเรียนที่สอนเพียงสองวันนี้ สามารถนำไปขยายและลงลึกต่อไปในครั้งต่อไป
เรายังอยากนำบทกวีบางบทในนี้มาเคลื่อนไหว วาดออกมาจากใจและเคลื่อนไหวด้วยกันครั้งต่อไป ครั้งนี้เรายังไปได้แค่สัมผัสเสียงบางเสียง ยังไม่ได้เข้าไปดื่มด่ำกับภาพในใจภาพรวม ที่กวีได้ถ่ายทอดออกมา  

เริ่มวิชาด้วยแบบฝึกหัดที่ปลุกใจให้เป็นผู้ตื่น กระทำการเคลื่อนไหว

ทุกแบบฝึกหัด เราสามารถอยู่กับแบบฝึกหัดแต่ละแบบฝึกหัด หลายครั้ง และนานกว่านี้
ที่สำคัญมาก หากสามารถรู้สึกกับกาย มีสติกับการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
มีหลายบทกวีที่เราใช้กับทุกคอร์ส เพราะเลือกมาได้เหมาะสม และยังชื่นชอบมาก 



๑. เริ่มด้วยการรู้สึก จุดศูนย์รวม พลังที่รวบรวมเป็นศูนย์ เป็นหนึ่ง
อันยังให้เกิดการเติบโต จากภายในสู่ภายนอก โดยอาศัยภาพจินตนาการใด ๆ เราใข้ ภาพ
เมล็ด ที่เป็นขุมพลังซ่อนอยู่ หยั่งราก แตกกิ่ง เติบโต กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ผลิบาน เติบโตเต็มกำลัง กับบทกวีเมล็ดข้าว

ประสบการณ์กับจังหวะธรรมชาติ การหายใจของ “ใจ”
การเข้าสู่ภายใน ออกสู่ภายนอก

๒. การยืนอย่างรู้สึกสมดุล โดยหาความไม่สมดุล โยกเยก เอนหน้าหลัง เพื่อมารู้สึกว่าการยืนที่น้ำหนักดิ่งลงมาที่กลางเท้านั้นทำให้เราพบแกนกลางของตนเอง เป็นการยืนที่ “ตั้งตรง” ระหว่างเบื้องบนและเบื้องล่าง

๓. การยืนระหว่างเบื้องบน และเบื้องล่าง ความสว่าง แสง กับความเบา และความอุ่นกับน้ำหนัก
เริ่มจากงานบทกวี คุณอังคาร กัลยาณพงศ์  บท ดิน ทราย ชีวิต และอมตะศิลป์ ในหนังสือ ปณิธานกวี

แขนสองข้างเปิดด้านบน ขาเปิดด้านล่าง โดยเริ่มจากแขนขวาชูขึ้นหาแสง
โดยคิดความจริงว่ แสงส่องมาจากด้านบน

ขานั้น รับรู้ถึงแรงโน้มถ่วงที่มาจากเบื้องล่าง แรงโน้มถ่วงขึ้นมาจากแผ่นดิน
สองพลังผสานกันที่ช่วงท้องของผู้รู้สึก

๔. การยืนนำความพร้อมมาสู่การเดิน การเดินอย่างที่ใจเป็นผู้กำหนด นับแต่การยกเท้า เป็นพลังใจ แรงบันดาลใจ การย่างเท้า อิสรภาพที่เรามีและมีช่วงเวลา ต่อมาการวางเท้า เป็นการตัดสินใจทำ การกำหนดทางชีวิต

๕. ตัวอย่างการทำงานกับจังหวะด้วยการเดินกับบทกวี สามจังหวะ ขอบฟ้าขลิบทอง ของ อุชเชนี (ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา และนามปากกา นิด นรารักษ์)

มิ่งมิตร
เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น
ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน
ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม

ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว
ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม
ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม
ที่จะขมขื่นลึกในหมึกมน

ที่จะโลดเริงเล่นเช่นหงส์ร่อน
ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน
ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน
ที่จะทนทุกข์เข้มเต็มหัวใจ

ที่จะเกลาทางกู้สู่คนยาก
ที่จะจากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม
ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร
ที่จะให้สิ่งสิ้นเธอจินต์จง

ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก
ที่จะหักพาลแพรกแหลกเป็นผง
ที่จะลุจุดหมายปลายทะนง
ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา

เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น
เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อรวงข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา
เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ

๖. เสียงสระสั้น หรือเบา และเสียงยาว หรือหนัก  กับบทกวี สร้อยอิร้า ฯ จากพระนลคำฉันท์ ประพันธ์โดยกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  (น.ม.ส.) รูปแบบ อิทิสังฉันท์ ๒๐ 
และ ร้องเพลงบทสวดนะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโต ... 


                       ๏ สร้อยอิร้าก็ถาชล่าสวรรค์   อิลุ้มอิแอ่นก็แล่นถลัน  
                       ถลาไป
                
                       ๏ สาลิกาปรอดก็พลอดณะไพร กระจอกกระจาบกระจิบกระไซ
                       กระสาดง

                       ๏ ยางกระหรอดกะเรียนกะลิงก็ลง กระตั้วกระเต็นก็เต้นณะดง
                       ณะดินแดน




๗. งานกับจังหวะ อีกงานคือ การค้นหาการเคลื่อนไหวกับจังหวะ ที่ได้ยินจากบทกวี ของ คุณสุภร ผลชีวิน ประเภท เปษณนาทฉันท์ ๑๖

                                            ณ ยามสายัณห์    ตะวันยิ่งย้อย 
                                            เร่งเท้านะหน่อย   นะคอยเหยียบหนา 
                                            ตะแล็กแต็กแต็ก  จะแหลกแล้วจ้า 
                                            กระด้งรีบมา         เถอะรับข้าวไป 

                                            คณาเนื้อนวล        ก็ครวญคลอขับ 
                                            ระริกแคนรับ         สลับเสียงใส 
                                            กระเดื่องตำข้าว    ก็กราวเสียงไกล 
                                            สนุกน้ำใจ             สมัยสายันห์

ทุกคนค้นพบจังหวะ ๔ แต่ละคนค้นหาการเคลื่อนไหวของตนเอง และแต่ละคนเคลื่อนไหวอย่างแตกต่าง
อีกทั้งค้นหาที่จะเคลื่อนไหวอย่างแตกต่าง
ทำให้ได้เห็นว่า การเล่นกับจังหวะด้วยร่างกายนั้นช่างหลากหลาย เพลิดเพลิน และสามารถนำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่างหลากหลายมากมาย และให้สีสันและบุคลิกภาพของบทกวีที่แตกต่างตามผู้เคลื่อนไหว

และเราได้ทำงานกลุ่มกับการเล่นจังหวะ
เราได้พบว่า การเล่นกับจังหวะ และการทำงานกลุ่ม สามารถคิดสร้างสรรค์ต่อ พัฒนาไปได้โดยตัวผู้เรียนเอง

๘. เสียง
เข้าไปสัมผัสกับความเป็นดนตรีของคำต่าง ๆ และวรรคบทกวีด้วยการออกเสียง

ที่เริ่มเรียนด้วยการออกเสียงสระต่าง ๆ และเคลื่อนไหวเสียง สระ อา  โดยแต่ละคนค้นหาการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง สิ่งที่พบคือ ทุกคนเปิดแขน หรือ ใจทุกคนเปิดต้อนรับโลกภายนอก เราได้นำบทกวีที่ชอบ และมีความรู้สึกของเสียงมา เป็นงานประพันธ์ของ อาจารย์วันเนาว์ ยูเด็น ในหนังสือ สายใยชีวิต

ตะวันกราดสาดส่องท้องฟ้าสาง           เพชรน้ำค้างสุดใสบนใบหญ้า
รื่นรมย์ชวยรวยรินกลิ่นผกา                 แสงอุษาโลมลูบมาจูบดิน

ออกเสียงสระล้วน ๆ (ไม่มีเสียงพยัญชนะ) และตามด้วยเสียง พยัญชนะ ล้วน ๆ 
(ไม่มีเสียงสระ) กับบทกวีของวันเนาว์ ยูเด็น
ออกเสียงสระโดยคำนึงถึงเสียงวรรณยุกต์
เราได้พบความเป็นดนตรีอย่างชัดเจนผ่านเสียงวรรณยุกต์ และค้นพบว่า เสียงวรรณยุกต์หลาย ๆ คำ เป็นเสียงที่สอดคล้องกับความรู้สึกของใจ ที่มีสูง และต่ำ

๙. มีประสบการณ์กับเสียง เสียงพยัญชนะที่เรียน ก เสียงแรกของอักษรไทย ที่เป็นตัวสะกดคำตาย ให้ความรู้สึกกักเก็บ มีขอบเขต เราเลือกคำว่า เกิด กำเนิด กล้า และ แยก กีดกัน กั้น สำหรับการให้ภาพในใจกับเสียงนี้ 
พวกเราออกแสียง และค้นหา ฟังประสบการณ์ที่ใจต้องกระทำภายในเพื่อการออกเสียง
เป็นเสียงที่อาศัย เจตจำนงค์ที่หนักแน่น และกล้าเปล่งออกมา
ก ทำให้รู้สึกว่า ช่วงกลางของลำตัวต้องสว่าง กั้นความมืดออกไป ด้วยพลังเจตจำนงค์ที่ต้อง เกิด และหากเราไม่ออกเสียงออกมา เรา “กัก” พลัง ในทิศที่เราทำเสียง ก เรานำความสว่างเข้าไปโดยการแยกหมอกสีเทาออกไป

เสียงที่ได้นำมาให้สัมผัส โดยไม่ได้ลงลึก คือเสียง ด และ ล
เราได้ออกเสียง ด ผู้เรียนดูเหมือนเข้ามาในโลกของเสียงได้อย่างรวดเร็ว สัมผัสเสียงผ่านคำภาษาไทย เช่น เด่น กด โดด ๆ “ดั่งดาวดับลับดิ่งจากกิ่งฟ้า” เราไม่ได้ลงลึกกับเสียง มีการรวมศูนย์ของสติเมื่อผู้เรียนทำเสียง ด

เสียง ล เราให้ภาพการเติบโตของเมล็ด ให้คำว่า ผลิ พลิก กลับขึ้นมา เราออกเสียง ล ร่วมกัน

เมื่อทำงานกับเสียงสองเสียง ล กับ ด ในวันแรก

๑๐. เรียนการเคลื่อนไหวไปด้วยกันเป็นกลุ่ม กับบทกวีที่ให้จังหวะง่าย ๆ คือ กาพย์เห่กล่อมพระบรรทม ของ สุนทรภู่
             เห่เอยนางเอก            มณีเมขลา
ลอยเร่ในเมฆา                          ถือจินดาดั่งดวงดาว
             โยนเล่นเห็นแก้ว       สว่างแวววามวาว
ลอยฟ้าเวหาหาว                       รูปราวกับกินรี
             ทรงเครื่องเรืองจำรัส อร่ามรัศมีฉวี
ชูช่วงดวงมณี                            เลื่อนลอยลีลามา
             เลียบรอบขอบทวีป อยู่กลางกลีบเมฆา
เชยชมยมนา                             เฝ้ารักษาสินธุ






Comments

Popular posts from this blog

เนื้อหาวิชาเรียนเสาร์นี้ จากภควัตคีตา สู่วารีดุริยางค์ และ ไตรลักษณะของมนุษย์ในดนตรี